การเป่าล้างบ่อสูบน้ำใต้ดิน

ความสำคัญของการเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล
การเป่าล้างบ่อหรือการพัฒนาบ่อมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นสภาพของบ่อน้ำบาดาลที่มีอายุการใช้งานมานานหรือบ่อที่มีปัญหาตะกอนดินทรายเข้าบ่อ เพื่อให้เป็นบ่อน้ำบาดาลที่ให้น้ำใสสะอาดและประสิทธิภาพการให้น้ำดีขึ้นดังเดิม และเป็นงานขั้นสุดท้ายในการทำบ่อก่อนที่จะสูบน้ำจากบ่อออกไปใช้ การพัฒนาบ่อมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้บ่อมีน้ำเพิ่มมากขึ้น ป้องกันไม่ให้ทรายเข้าบ่อ และทำให้อายุการใช้งานของบ่อ ยืนยาวขึ้นการที่จะได้ผลดังกล่าวข้างต้น ต้องดำเนินการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งให้ตะกอน หรือทรายละเอียดจากชั้นน้ำไหลแทรกผ่านกรวดกรุ แล้วทะลุรูท่อเซาะร่องหรือท่อกรองเข้าไปในบ่อ เพื่อสูบหรือตักทิ้งไป ทรายละเอียดเหล่านี้ยิ่งออกไปได้หมดเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น งานพัฒนาบ่อเสร็จเมื่อสามารถสูบน้ำจากบ่อได้เต็มที่ตลอดเวลา โดยไม่มีทรายหรือตะกอนปนออกมากับน้ำ

วิธีเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล
วิธีการเป่าล้างบ่อมีหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะวิธีง่ายๆ และนิยมใช้กันทั่วไป คือ วิธีการตักน้ำ (Bailing) วิธีการสูบน้ำ (Pumping) วิธีการกวนน้ำ (Surging) และวิธีการเป่าล้างด้วยลม (Injection of compressed air)
    1. วิธีการตักน้ำ (Bailing) การตักน้ำเป็นวิธีการพัฒนาบ่อขั้นมูลฐาน หมายถึงการใช้กระบอกตักน้ำ (Bailing) ซึ่งใช้ประจำรถเจาะ หย่อนลงไปตักน้ำถึงก้นบ่อขึ้นมาทิ้ง แรงดันของกระบอกตักตอนหย่อนลงและแรงดึงตอนดึงขึ้น จะทำให้กระเพื่อมผ่านรูท่อกรองหรือท่อเซาะร่องออกจากบ่อและเข้าบ่ออย่างแรง ทรายเม็ดละเอียดรอบๆ กรวดกรุจึงตามน้ำเข้ามาด้วย ทรายหรือตะกอนเม็ดละเอียดมากๆ จะลอยแขวนอยู่ในน้ำ ส่วนเม็ดใหญ่จะตกตะกอนที่ก้นบ่อ ตักขึ้นทิ้งได้ต่อไป การพัฒนาบ่อด้วยวิธีนี้สะดวกและรวดเร็ว แต่ไม่อาจจะทำสำเร็จทีเดียว ต้องอาศัยวิธีอื่นมาช่วยทีหลัง การหย่อนกระบอกตักขึ้นลงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะกระบอกอาจจะไปกระแทกท่อกรองซึ่งบอบบางกว่าท่อกรุ ทำให้ขาดหรือแตกได้
    2. วิธีการสูบน้ำ (Pumping) การพัฒนาบ่อวิธีนี้ทำได้โดยการสูบน้ำด้วยเครื่องสูบ มีหลักการขั้นต้นอยู่ที่ต้องใส่ท่อดูด (Suction pipe) ของเครื่องสูบน้ำไปถึงประมาณกึ่งกลางของท่อเซาะร่อง หรือท่อกรองและเริ่มสูบน้ำปริมาณน้อยๆ ก่อน จนกว่าน้ำจะใส จึงเพิ่มความเร็วของเครื่องสูบขึ้นทีละขั้น จนสูบน้ำได้ปริมาณสูงสุดเท่าที่เครื่องสูบจะสูบได้ เมื่อน้ำใสแล้วจึงหยุดสูบ ให้ระดับน้ำคืนตัวขึ้นมาอยู่ระดับเดิม แล้วจึงเริ่มลงมือสูบใหม่ การสูบน้ำปริมาณไม่สม่ำเสมอ และสูบไม่ติดต่อกัน จะยังผลให้เกิดการกวนน้ำในชั้นน้ำ ทรายหรือตะกอนละเอียดจากชั้นน้ำจะถูกดูดปนเข้ามาในบ่อ และถูกดูดออกมาทิ้งไปส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งตกลงไปก้นบ่อและอาจจะตักออกทิ้งได้ภายหลัง
    3. วิธีการกวนน้ำ (Surging) วิธีนี้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Plunger หรือ Swab ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับลูกสูบ ขนาดพอเหมาะพอดีกับรูในของท่อกรุ ใส่ลงไปในบ่อเหนือระดับท่อกรองและดึงขึ้นลงเร็วๆ ขณะที่ดึงลูกสูบขึ้น น้ำจากชั้นน้ำพร้อมกับทรายละเอียด จะไหลผ่านกรวดกรุเข้ามาในบ่อ ตอนดันลูกสูบลง น้ำในบ่อจะถูกดันกลับเข้าไปในชั้นน้ำ น้ำที่ไหลเข้าไหลออกนี้ จะไปกวนให้ตะกอนและทรายละเอียด แยกตัวออกจากทรายหยาบหรือกรวดในชั้นน้ำ แล้วไหลปนกับน้ำเข้ามาในบ่อ เมื่อทรายเข้ามามากๆ แล้ว ดึงลูกสูบขึ้นจากท่อ ตักน้ำปนทรายออกด้วยกระบอกตักแล้วจึงเริ่มต้นกวนน้ำต่อไป จนกว่าจะไม่มีทรายเข้าบ่ออีก การใช้ลูกสูบแบบนี้มีวิธีการปลีกย่อยไปอีกหลายแบบ บางแบบใช้ลูกสูบมีรูกลวง (Surge Block) ต่อเข้ากับก้านเจาะของเครื่องเจาะหมุนแล้วหย่อนลงไปจนถึงกึ่งกลางของท่อกรอง ดึงขึ้นลงช้าๆ พร้อมๆ กับสูบน้ำใสอัดลงไปทางก้านเจาะ บางวิธีใช้ลูกสูบกลวงเหมือนกันแต่ต่อเข้ากับท่อดูดของเครื่องสูบ หย่อนลงไปเหนือระดับท่อกรองดึงขึ้นลงพร้อมๆ กับดูดน้ำออกจากบ่อ บางวิธีมีลิ้นปิดเปิดที่ตัวลูกสูบ ในช่วงที่ดึงลูกสูบขึ้นลิ้นจะเปิด ลูกสูบจึงทำหน้าที่ดึงน้ำนอกบ่อเข้ามาในบ่อ ในช่วงดันลูกสูบลง ลิ้นที่ลูกสูบจะเปิด น้ำในบ่อจะไหลดันผ่านลิ้นขึ้นมาข้างบน วิธีการเหล่านี้ต้องดัดแปลงให้เหมาะสมกับท้องที่และความชำนาญของช่างเจาะแต่ละคน ผลที่ได้ดีกว่า 2 วิธีแรก
    4. วิธีการเป่าล้างด้วยลม วิธีนี้มีเครื่องอัดลมขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่มาใช้ (ควรเลือกขนาดทำลมได้ไม่น้อยกว่า 100 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาที) โดยต่อท่อลม (Air Line) ลงไปในท่อสูบน้ำ (Drop Pipe) ซึ่งใส่ไว้ในบ่อแล้ว ทั้งท่อลมและท่อสูบน้ำต้องมีที่หิ้วเพื่อดึงขึ้นลงได้สะดวก เริ่มแรกโดยหย่อนท่อทั้งสองลงไปถึงปลายสุดของท่อกรอง หรือให้จมอยู่ใต้ระดับน้ำประมาณ 2/3 ของความยาวของท่อกรุทั้งหมด แล้วจึงปล่อยลมซึ่งมีความดันสูงตั้งแต่ 100-125 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ลงไปในบ่อทางท่อลม ปริมาณลมที่ถูกอัดดันลงไปในบ่อจะผสมกับน้ำ น้ำผสมจะมีน้ำหนักเบา จึงถูกแรงดันของลมดันออกมาทางท่อจ่ายน้ำ แรงดันของลมดังกล่าวนี้จะทำให้ตะกอนและทรายเม็ดเล็กรอบๆบ่อหลุดเข้ามาในบ่อแล้วจึงถูกดันขึ้นข้างบนทางท่อจ่ายน้ำตลอดเวลาที่ลมยังมีแรงดันสูง การเป่าล้างด้วยวิธีนี้ต้องคอยดึงท่อขึ้น หรือลงเป็นช่วงๆ ไปจนกว่าทรายละเอียดจะไม่เข้ามาในบ่ออีกต่อไป

          ในบางกรณี วิธีการปล่อยลมอาจจะผิดไปกว่าที่กล่าวถึงข้างบนได้บ้างตามความเหมาะสมเช่น เมื่อล้างด้วยวิธีการปกติจนน้ำไม่มีทรายแล้ว อาจปิดท่อจ่ายน้ำไม่ให้น้ำออกมา น้ำซึ่งไม่มีทางออก ข้างบนก็จะไหลลงข้างล่าง ผ่านท่อกรองออกไปกวนกรวดทรายในชั้นน้ำอย่างรุนแรง ครั้นเมื่อเปิดท่อจ่ายน้ำ น้ำและตะกอนทรายจะไหลกลับคืนเข้าบ่อ และไหลออกทางท่อจ่ายน้ำอย่างรุนแรงเช่นกัน วิธีการเช่นนี้ควรจะทำเฉพาะการพัฒนาแรกๆ เท่านั้น หลังจากกรวดทรายในชั้นน้ำและกรวดกรุอัดอยู่ตัวแล้วไม่ควรทำ



          วิธีการใช้ลมอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกัน เรียกว่าวิธี Black wash วิธีนี้จัดเครื่องมือเหมือนวิธีธรรมดา แต่ท่อลมที่ปากบ่อมีท่อแยกออกไปอีกท่อหนึ่ง ปลายท่อนี้ใส่ลงไปในบ่อทางด้านนอกของท่อจ่ายน้ำเพียงระยะตื้นๆ ที่ปากบ่อต้องอุดให้แน่นไม่มีช่องว่าง การเป่าล้างเริ่มด้วยการปิดท่อลมที่แยกออกให้แน่นและอัดลมด้วยวิธีธรรมดาจนน้ำใส แล้วจึงหยุดเครื่อง ปล่อยน้ำในบ่อไหลกลับคืนสู่ระดับปกติ จากนั้นจึงเริ่มการ Black washing โดยปิดท่อลมสายตรงให้แน่น ปล่อยให้ลมแรงดันสูงออกทางท่อแยก ลมจะดันน้ำจากระดับปกติลงไป จนไหลย้อนขึ้นมาทางท่อจ่ายน้ำ พร้อมกับอุ้มเอาตะกอนทรายขึ้นมาด้วย เมื่อน้ำหยุดไหล แต่มีลมออกมาแทนก็หยุด และเริ่มการเป่าล้างแบบธรรมดาสลับกันไปจนน้ำใสสะอาด
          วิธีการเป่าล้างด้วยลมนี้ ไม่ต้องมีการตักเอาทรายที่ตกลงไปในก้นบ่อขึ้นเหมือนวิธีอื่น เพราะทรายเหล่านั้นสามารถจะเป่าไล่ขึ้นมาจากก้นบ่อด้วยลมได้ วิธีการนี้จึงเหมาะแก่การล้างทำความสะอาดบ่อที่ใช้มานานๆ แล้วด้วย
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้